ชนเผ่ากูยสืบสานประเพณี “หวัวบุญเบิกฟ้า” รำลึกบรรพบุรุษ

หวัวบุญเบิกฟ้า ไหว้บูชา ขอขมา บรรพบุรุษ ที่สิงสถิต ณ ปราสาทปรางค์กู่ อายุนับพันปี สืบเชื้อสายประเพณีของชนเผ่ากูยโบราณ ของชาวอำเภอปรางค์กู่ จังหวัดศรีสะเกษ ที่จะทำในช่วงบุญเดือน 3 ส่งเสริมการท่องเที่ยว

วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2567 ณ อุทยานดงกูย บ้านกู่ อำเภอปรางค์กู่ จังหวัดศรีสะเกษ ตั้งแต่เช้าของวันนี้ได้มีพี่น้องประชาชน ชาวบ้าน ผู้นำท้องถิ่น ต่างแต่งตัวด้วยชุดชนเผ่ากูย เสื้อผ้าไหมสีดำแขนยาว สวมผ้าถุง หรือผู้ชายก็จะสวมโสร่ง พร้อมมีผ้าขาวม้าไหมพันคอ 1 รอบ พาดไว้ที่บ่า โดยทุกคนก็จะเลือกผ้าไหมที่สวยที่สุดที่มีอยู่ในครอบครัว นำออกมาโชว์อวดแข่งขันกัน พร้อมหาบ แบก นำเครื่องเซ่นไหว้ ทั้งผลไม้มงคลนานาชนิด เหล้าสาโทพื้นบ้านของดีประจำของชนเผ่า หัวหมู เป็ด – ไก่นึ่ง ข้าวต้มกูย อื่นๆ ที่เป็นมงคล อันจะสร้างความอุดมสมบูรณ์ให้กับครอบครัวตน นำมาเข้าขบวนแห่ไปยังปราสาทปรางค์กู่ ที่มีอยู่ 3 ปรางค์ เชื่อกันว่าสร้างตั้งแต่สมัยขอมเรืองอำนาจ ฝีมือของบรรพบุรุษ ซึ่งลูกหลานชนเผ่ากูย ไม่ว่าจะไปทำงานอยู่ที่ใด หากถึงช่วงงานหวัวบุญเบิกฟ้า ก็จะต้องกลับมาบ้าน เพื่อมาเซ่นไหว้บรรพบุรุษ สิงสถิตอยู่ที่ปรางค์ปราสาท 3 ปรางค์นี้ แล้วบรรพบุรุษก็จะให้พรแก่ลูกหลาน ให้อยู่เย็นเป็นสุข ทำมาค้าขายก็จะร่ำรวย สุขภาพแข็งแรง

โดย นายวิทยา ไชยเดชกำจร นายอำเภอปรางค์กู่ และนายพสิษฐ์ เจนพิทักษ์คุณ นายก อบต.กู่ ประธานในการจัดงานในปีนี้ได้เชิญ นายชัยยงค์ เมธาสุรวิทย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ เดินทางมาเป็นประธานเปิดงาน ร่วมกับ นายวิทยา วิรารัตน์ ประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดศรีสะเกษ, นายประหยัด ถิลา วัฒนธรรมจังหวัดศรีสะเกษ, ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดศรีสะเกษ, นายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดศรีสะเกษ หัวหน้าส่วนราชการในจังหวัดศรีสะเกษ นายกสมาคมชาวกูยแห่งชาติ เดินทางมาร่วมงาน โดยหลังจากขบวนแห่เครื่องเซ่นไหว้ เดินทางมาถึงปราสาทปรางค์กู่ ก็ได้เดินเวียน 3 รอบ ก่อนนำเครื่องเซ่นไหว้ไปวางไว้ยังที่คณะผู้จัดเตรียมไว้ จากนั้นได้ประกอบพิธีสงฆ์ก่อน แล้วจึงได้มาประกอบพิธีกล่าวคำบูชาเครื่องเซ่นไหว้บรรพบุรุษ ถวายเครื่องเซ่นไหว้ โดยเฉพาะเหล้าสาโท ที่เชื่อว่าบรรพบุรุษชนเผ่ากูย เป็นหลักในการนำมาประกอบพิธีนับตั้งโบราณกาลกว่าพันปีมาแล้ว จากนั้นได้ประกอบพิธีสู่ขวัญข้าว โดยใช้ภาษากูยในการกล่าวสู่ขวัญ ซึ่งเป็นภาษาของบรรพบุรุษใช้พูดกันตั้งแต่โบราณมา ก่อนที่จะถวายการร่ายรำของสาวงามประจำชนเผ่า เป็นอันเสร็จพิธี

ขณะเดียวกันภายในบริเวณปราสาท ยังได้เปิดโอกาสให้ชุมชน หมู่บ้าน กลุ่มอาชีพในเขตอำเภอปรางค์กู่ เขตจังหวัดศรีสะเกษ ได้มาเปิดร้านแสดง และจำหน่ายสินค้านานาชนิด ของชนเผ่ากูย ภายในงานด้วย

///////////////////////

ภาพ/ข่าว นายพงษ์พัฒน์ ไตรพิพัฒน์ / ศรีสะเกษ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

error: Content is protected !!