ชาวอำเภออุทุมพรพิสัย จังหวัดศรีสะเกษ จาก 19 ตำบล กว่าพันคน ร่วมขบวนแห่ นำพานบายศรี น้ำศักดิ์สิทธิ์ไปไหว้ ราดรดลงบนศิวลึงค์ ที่ปราสาทหินสระกำแพงใหญ่ ชมการแสดง แสง – สี – เสียง ตำนานการสร้างปราสาทหินสมัยขอมโบราณ
ค่ำของวันที่ 10 เมษายน 2567 ชาวอำเภออุทุมพรพิสัย จังหวัดศรีสะเกษ ที่ได้สืบเชื้อสายมาจากชน 4 เผ่า อันได้แก่ เผ่าส่วย เผ่าเขมร เผ่าเยอ และเผ่าส่วย หรือกูย โดยเฉพาะเผ่าเขมร ที่ได้สร้างตำนานอันงดงามเจริญรุ่งเรืองเอาไว้ให้ลูกหลานได้ระลึกนึกถึง ถึงความยิ่งใหญ่ของชนเผ่าที่อาศัยอยู่ในแถบนี้ ซึ่งปัจจุบันอำเภออุทุมพรพิสัย มี ด้วยกัน 19 ตำบล วันนี้นางรำได้แต่งกายด้วยผ้าประจำถิ่นของชนเผ่า อย่างน้อยตำบลละ 30 คน รวม 570 คน นำพานบายศรีมาเดินเท้า ร่ายรำเพื่อเดินทางไปสู่ปราสาทหินสระกำแพงใหญ่ ด้วยจิตศรัทธา จากหน้าที่ว่าการอำเภออุทุมพรพิสัย ระยะทางกว่า 5 กิโลเมตร ในการร่วมงาน “ย้อนรำลึกปราสาทหินสระกำแพงใหญ่ ในวันขึ้น 2 ค่ำ เดือน 5 แห่งวิศุวสงกรานต์ ซึ่งทางจันทรคติ จะเป็นวันที่เวลากลางวัน กับเวลากลางคืน จะเท่ากัน และพระอาทิตย์จะอยู่ศรีษะในเวลาเที่ยงตรงพอดี ทางโหราศาสตร์จึงได้กำหนดเป็นวันไหว้ขอพรองค์มหาเทพ แห่งปราสาทหินสระกำแพงใหญ่ ที่มีจารึกขอมโบราณ ไว้บนแผ่นศิลา หน้าซุ้มประตู ทางเข้าปราสาทสระกำแพงใหญ่ ที่สร้างมาราวศตวรรษที่ 16
ในการเดินขบวนแห่พานบายศรี ทั้ง 19 ขบวน นำโดย นายพศิน ทาศิริ นายอำเภออุทุมพรพิสัย ร่วมกับ หัวหน้าส่วนราชการ พ่อค้า – ประชาชน นายก อบต.เทศบาล จำนวนกว่า 1 พันคน รวมทั้งนักท่องเที่ยว ที่เดินทางมาร่วมงานในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งในการจัดงานย้อนรำลึกปราสาทหินสระกำแพงใหญ่ มีแห่งเดียวในโลก เพราะที่นี่คือตำนานของการสร้างเมือง ของพระเจ้าสุริยวรมัน ที่7 ก่อนที่จะกลับไปตีเอาเมืองของตนกลับคืนมาได้ ยังนครวัต – นครธม โดยขบวนแห่พานบายศรีได้เดินทางไปถึงปราสาทหินสระกำแพงใหญ่ ได้นำน้ำศักดิ์สิทธิ์ที่ตักไปจากอโรคยาศาล ปราสาทหินสระกำแพงน้อย จากตำบลขะยูง จังหวัดศรีสะเกษ ไปบูชาศิวลึงค์ ด้วยการราดรดลงบนศิวลึงค์ เพื่อเป็นการถวายน้ำศักดิ์สิทธิ์ จากนั้นวางพานพุ่ม พานบายศรี ไว้รายรอบปราสาทหินสระกำแพงใหญ่ ถวายแด่องค์มหาเทพ จากนั้นได้ร่วมกันชมละครอิงประวัติศาสตร์ ตำนานการสร้างปราสาทหินสระกำแพงใหญ่ ไว้เป็นที่สิงสถิตขององค์มหาเทพ ตราบเท่าทุกวันนี้ เป็นการแสดงที่ยิ่งใหญ่ ใช้นักแสดงในพื้นที่ ชาวอำเภออุทุมพรพิสัย เพื่อให้คนรุ่นหลังได้รู้ประวัติของตน และเพื่อเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยว ปราสาทหิน ในจังหวัดศรีสะเกษ ที่มีอยู่หลายแห่งนับตั้งแต่สมัยขอมเรืองอำนาจ ที่ตัวปราสาทยังสมบูรณ์ที่สุด
/////////////////////////
ภาพ/ข่าว นายพงษ์พัฒน์ ไตรพิพัฒน์ / ศรีสะเกษ