ปังอ๊อกเปรี๊ยะแค ประเพณีชนเผ่าเขมร ป้อนข้าวพระจันทร์คืนวันเพ็ญ

ปังอ๊อกเปรี๊ยะแค สืบรากวัฒนธรรม ประเพณี ชนเผ่าเขมร ป้อนข้าวพระจันทร์คืนวันเพ็ญ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12  เกี่ยวข้าวใหม่ นำมาตำเป็นข้าวเหม่า ทำบุญใส่บาตรข้าวเหม่ากลางดึก ก่อนจุดเทียนเสี่ยงทาน แห่งเดียวในโลก

เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2566 ที่ บริเวณหน้าวัดสำโรงพลัน อำเภอไพรบึง จังหวัดศรีสะเกษ ตั้งแต่ช่วงเช้าของเมื่อวานนี้ คณะญาติโยม ได้กราบนิมนต์พระสงฆ์ นำโดย พระอธิการนุ่ม อัคคปัญโญ เจ้าอาวาสวัดสำโรงพลัน เดินทางเพื่อไปประกอบพิธีเกี่ยวข้าวหอมมะลิมงคล ที่แปลงนารวมของชุมชนเผ่าเขมร จากนั้นได้จัดขบวนอัญเชิญข้าวหอมมะลิที่เกี่ยว ก่อนสุกแก่เต็มที่ เข้ามาที่วัดเพื่อประกอบพิธีตำข้าวเหม่า กองข้าวเจดีย์รวมเพื่อส่งบุญกุศลให้กับญาติผู้ล่วงลับทุกครอบครัว พร้อมกับการระดมชาวบ้านมาร่วมกันตำข้าวเปลือก เพื่อทำเป็นข้าวเหม่า เตรียมไว้ประกอบพิธีในช่วงค่ำคืนของวันเพ็ญ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 ในการสืบรากวัฒนธรรมของชนเผ่าเขมร “ปังอ๊อกเปรี๊ยะแค” ป้อนข้าวพระจันทร์ ที่มีประเพณีแบบนี้ในคืนวันเพ็ญ แห่งเดียวในโลก โดยมี นายอนุรัตน์ ธรรมประจำจิต รองผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ เดินทางมาเป็นประธานเปิดงาน ร่วมกับ นายวิทยา วิรารัตน์ ประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดศรีสะเกษ, ดร.กิตติพงษ์ ประชาชิด อาจารย์นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยราชภัฎศรีสะเกษ พร้อมด้วย การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เขตจังหวัดสุรินทร์ศรีสะเกษ, นายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดศรีสะเกษ, ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดศรีสะเกษ นักท่องเที่ยว ชาวบ้านสำโรงพลัน ชาวอำเภอพรบึง ร่วมงานคับคั่ง

“ปังอ๊อกเปรี๊ยะแค” รากวัฒนธรรมชนเผ่าเขมร ในเขตอำเภอไพรบึง คือ การประกอบพิธีป้อนข้าวพระจันทร์ ในคืนวันเพ็ญ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 ซึ่งตรงกับคืนวันลอยกระทง เริ่มจากช่วงเช้า ชาวบ้านจะพากันไปลงแขกเกี่ยวแปลงนามงคล ข้าวเปลือกมงคล นำมาตำเป็นข้าวเหม่า จากนั้นมีขบวนอัญเชิญข้าวเปลือกจากแปลงนามงคล นำมาที่วัดในช่วงเย็น นำมาตำเป็นข้าวเหม่า เพื่อมาร่วมประกอบพิธีทำบุญใส่บาตรข้าวเหม่า อุทิตส่วนบุญกุศลให้กับบรรพบุรุษ ผู้วายชนทุกครอบครัว ที่สำคัญในคืนของวันที่ 25 พฤศจิกายน 2566 ก่อนการเริ่มงาน ได้เกิดอุบัติเหตุใหญ่ รถยนต์เมาแล้วขับ ชนกวาดกำแพงวัด คราชีวิตชาวบ้าน ลูกหลานไป 8 ศพ ตรงบริเวณหน้าวัดสำโรงพลัน ตรงจุดที่จะจัดงานนี้ด้วย จึงถือโอกาสนี้ อุทิตส่วนบุญกุศลให้กับทุกดวงวิญญาณที่ดับไปด้วย พร้อมการขอพรจากพระจันทร์เต็มดวง ที่ส่องแสงสว่างไสวทั่วท้องฟ้ายามราตรี จากนั้นได้นำผู้เฒ่าผู้แก่ที่ทรงศีลได้นำข้าวเหม่า มาป้อนแก่หนุ่มสาวพรหมจรรย์  จำนวน 2 คู่ จนให้อิ่มหนำสำราญ จากนั้นได้มอบหน้าที่หมุนเทียนเสี่ยงทายให้กับหนุ่มสาว 2 คู่พรหมจรรย์ ในการจุดเทียนเสี่ยงทาย จำนวน 8 เล่ม โดยให้หนุ่มสาวหมุนไปรอบๆ ช้าๆ และหยุด เพื่อรอดูว่าน้ำตาเทียนจะหยดลงมากที่สุดของเทียนเล่มไหน โดยเทียนแต่ละเล่ม จะหมายแทนเดือนที่เกษตรกรกำหนดเป็นช่วงฤดูการทำนา เทียนเล่มไหนน้ำตาเทียนไหลอย่างต่อเนื่อง พ่อพราหมณ์ก็จะทำการเสี่ยงทายว่า น้ำตาเทียนคือสายฝนตกลงมายังแปลงนา มากน้อยขึ้นอยู่กับเทียนแต่ละเล่ม ฤดูการทำนา การเก็บเกี่ยว ข้าวน้ำจะอุดมสมบูรณ์ ฝนจะตกต้องตามฤดูกาลหรือไม่ ฝนจะตกช่วงเดือนใดมาก น้ำตาเทียนก็จะไหลหยดลงอย่างต่อเนื่องมากไม่ขาดสาย หรือหากเทียนเล่มใดไหม้ลุกอย่างรุนแรง จนเทียนหลุดออกจากฐานทั้งเล่ม ก็จะแสดงว่า เดือนนั้นปีนี้ น้ำจะท่วมใหญ่ อย่างที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา โดยพิธีกรรมเช่นนี้เป็นความเชื่อเฉพาะของชนเผ่าเขมร และจะประกอบพิธีเช่นนี้ในทุกๆ ปี ในคืนวันเพ็ญ ขั้น 15 ค่ำ เดือน 12 นี้เอง โดยนับว่าเป็นสืบรากวัฒนธรรมของชนเผ่าเขมร ที่มีแห่งเดียวในโลก โดยขณะนี้ชาวอำเภอไพรบึง จังหวัดศรีสะเกษ กำลังริเริ่มฟื้นฟูประเพณีนี้ ยกระดับขึ้นมา จากระดับหมู่บ้าน เป็นระดับอำเภอ เพื่อเชื่อมโยงกับการท่องเที่ยวจังหวัดศรีสะเกษ ประเทศไทย เพื่อการสร้างรายได้ให้ชุมชน จากนักท่องเที่ยวที่จะเข้ามาเที่ยวชมต่อไป

//////////////////////

ภาพ/ข่าว นายพงษ์พัฒน์ ไตรพิพัฒน์ / ศรีสะเกษ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

error: Content is protected !!