เปิดงานหอมแดงยิ่งใหญ่ ลมหายใจของคนยางชุมน้อย

จังหวัดศรีสะเกษ เปิดงาน หอมแดง กระเทียมดี อำเภอยางชุมน้อย ยิ่งใหญ่ ทั้งขบวนแห่รถหอมแดงกระเทียมดี พร้อมการแสดง สี เสียง ตำนานบ้านยางชุมน้อย บ้านยางชุมใหญ่ ที่ใช้นักแสดงทั้งหมดเป็นลูกหลานชาวยางชุม

ค่ำของวันที่ 18 มกราคม 2567 ที่ สนามหน้าที่ว่าการอำเภอยางชุมน้อย จังหวัดศรีสะเกษ วันนี้เป็นวันเปิดงาน “หอมแดง กระเทียมดี อำเภอยางชุมน้อย ครั้งที่ 48” ซึ่งอำเภอยางชุมน้อย เป็นอำเภอที่ปลูกหอมแดงเป็นอันดับ 1 ของจังหวัดศรีสะเกษ และที่ 1 ของประเทศไทย โดยมีพื้นที่การเพาะปลูกหอมแดง ประมาณ 14,000 ไร่ ปีหนึ่งๆ จะมีผลผลิตออกสู่ตลาดเฉลี่ยปีละ ประมาณ 42 ตัน สามารถทำรายได้ให้แก่เกษตรกร ได้เฉลี่ยปีละ ประมาณ 1,000 ล้านบาท หอมแดงจึงเป็นส่วนหนึ่งในวิถีชีวิตของคนยางชุมน้อย เป็นลมหายใจของคนยางชุมน้อย ด้วย คนยางชุมน้อย จะตื่นก่อนหมา หากินแบบไก่ นั้นหมายความว่า จะตื่นตั้งแต่ 02.00 น. เพื่อไปรดน้ำหอมแดงในแปลงที่ปลูก และจะหาเงินหากินเก่งเหมือนไก่ที่ขุ้ยเขี่ยไปเรื่อยๆ เปรียบเปรยเป็นความขยันของคนยางชุมน้อย

โดยค่ำของวันนี้ นายสฤษดิ์ รัตนวงษ์ นายอำเภอยางชุมน้อย ในนามของคณะกรรมการอำนวยการจัดงาน “หอมแดง กระเทียมดี ที่อำเภอยางชุมน้อย” ได้นำขบวนตกแต่งรถหอมแดง กระเทียมดี สืบรากวัฒนธรรม – ประเพณีชาวยางชุมน้อย เข้าสู่สนามหน้าที่ว่าการอำเภอยางชุมน้อย เพื่อร่วมพิธีเปิดงานอย่างยิ่งใหญ่ โดยมี นายอนุพงศ์ สุขสมนิตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ, นางสาวชนมณัฐ รอดบุญธรรม รองผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ หัวหน้าส่วนราชการในจังหวัดศรีสะเกษ ร่วมเปิดงาน ชมการแสดงของกลุ่มแม่บ้าน กลุ่มนักเรียนในอำเภอยางชุมน้อย และยังได้ชมการแสดงละครประวัติศาสตร์ แสง – สี – เสียง ตำนานการตั้งบ้านเรือนของคนยางชุมน้อย และบ้านยางชุมใหญ่ ที่ผู้นำได้อพยพหนีภัยสงครามมาจากประเทศลาว จากเมืองจำปาศักดิ์ ก่อนมาตั้งรกรากที่ฝั่งไทย และอพยพหาแหล่งพักพิง พื้นที่อันอุดมสมบูรณ์ จนมาเจอพื้นที่ในปัจจุบัน คือ หมู่บ้านยางชุมน้อย และหมู่บ้านยางชุมใหญ่ ที่ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำมูล และได้เริ่มทำมาหากิน ทำนา และที่สำคัญได้ริเริ่มปลูกหอมแดง จนกลายเป็นลมหายใจของคนยางชุมน้อย สามารถสร้างรายได้กว่าปี 1,000 ล้านบาทเลยที่เดียว ในการแสดงได้ใช้นักแสดงที่เป็นนักเรียน ลูกหลานของคนยางชุมน้อยกว่า 200 ชีวิต ซึ่งเป็นภูมิปัญญาของคนรุ่นพ่อแม่ ของชาวยางชุมน้อย ที่เปิดโอกาสให้ลูกหลานได้มาเป็นนักแสดงเพื่อที่จะได้ทราบประวัติ ตำนาน ของบรรพบุรุษของตน เป็นการสืบต่อเรื่องราวในอดีต สู่รุ่นลูกหลานในปัจจุบัน นอกจากนั้นยังได้มีการประกวดการมัดหอมแดง การประกวดหอมแดงคุณภาพ กระเทียมดี เพื่อส่งเสริมการปลูกหอมแดงคุณภาพต่อไปด้วย

//////////////////////

ภาพ/ข่าว นายพงษ์พัฒน์ ไตรพิพัฒน์ / ศรีสะเกษ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

error: Content is protected !!